กศร. สป.พน. มีโครงการที่รับผิดชอบในการจัดการพลังงานในชุมชนระดับตำบล ร่วมกับ สพจ. ทั้ง 76 จังหวัด ผ่านการจัดทำแผนพลังงานชุมชน โดยเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมในการจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อม และแผนงบประมาณในท้องถิ่นของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนเป็นหลัก เพื่อตอบสนองต่อแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการจัดทำโครงการหรือแผนงานของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนลดการใช้พลังงานบนพื้นฐานการมีจิตสำนึกและความตระหนักสอดคล้องกับวิถีชีวิต สามารถพึ่งพาตนเองและบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วม บนฐานศักยภาพพลังงานทดแทนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2549 - ปัจจุบัน มี อปท. เข้าร่วมการดำเนินกิจกรรมภายใต้ โครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 2,830 อปท. ทั่วประเทศ (7,850 อปท.) ได้สร้างอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อส.พน.) จำนวนกว่า 28,000 คน (อสพน. คือ ประชาชนที่มีจิตอาสาทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน ในการขับเคลื่อน และพัฒนาพลังงาน ด้วยแนวคิด รู้-รักษ์-ตระหนัก-สร้าง กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ) ก่อเกิดแหล่งศึกษาดูงานด้านพลังงาน 594 แห่ง สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมระดับครัวเรือน และOTOP เพิ่มมูลค่าและลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 10 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นการลดใช้พลังงานลงได้อย่างน้อย 0.65 ktoeต่อปี และเกิดการเพิ่มรายได้จากการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานชุมชนได้ 9 ล้านบาทต่อปี

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การพัฒนาแผนพลังงานชุมชนจะมีทิศทาง ดังนี้

  1. พลังงานชุมชนกับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
  2. ยกระดับการลดการใช้พลังงานและเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเทคโนโลยีพลังงาน
  3. พัฒนาหลักสูตรนักวางแผนพลังงานชุมชน และ อาสาสมัครพลังงานชุมชน

ผ่านการดำเนินการกิจกรรมภายใต้โครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบลและเครือข่ายพลังงานชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนี้

  1. คัดเลือก อปท.ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยพิจารณาตามบริบทของชุมชน เช่น กลุ่มชุมชนเมือง กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว กลุ่มชุมชนชนบท กลุ่มชุมชนผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน จำนวนรวมไม่น้อยกว่า 948 แห่ง จาก 76 จังหวัด
  2. จัดกระบวนการเรียนรู้การจัดการพลังงานในระดับชุมชนและการจัดทำโครงการด้านพลังงานในระดับชุมชนกับเจ้าหน้าที่ อปท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของ เจ้าหน้าที่ อปท. ผู้นำชุมชน อส.พน.และผู้ที่สนใจ ในเรื่องการบริหารจัดการพลังงานในชุมชน การประหยัดพลังงานและการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
  3. ลงติดตาม ให้คำปรึกษา คำแนะนำ กับ จนท.อปท.ที่เข้าร่วมกิจกรรม ในการจัดทำแผนพลังงาน และ การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมด้านพลังงาน ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของ อปท.นั้นๆ โดยเน้นย้ำความครบวงจรเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก คือ วิเคราะห์ความพร้อมในการบริหารจัดการพลังงานทั้งห่วงโซ่คุณค่าของชุมชน อาหาร/พลังงาน/อาชีพ/ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงาน สร้างคุณค่าเพิ่ม หรือมูลค่าเพิ่ม จากการจัดการด้านพลังงานในชุมชน
  4. ทำการพิจารณาคัดเลือกโครงการด้านพลังงาน ที่ จนท.อปท.จัดทำ ที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน เพื่อที่ สป.พน.จะทำคำของบประมาณสำหรับการส่งเสริมกิจกรรม ภายใต้งบอุดหนุนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีกรอบแนะนำการพิจาณาดังนี้
  • ความเชื่อมโยง สภาพปัญหา และสิ่งที่ต้องการทำ
  • ผลกระทบจากการดำเนินงาน
  • การสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
  • การบริหารจัดการหลังมีการดำเนินงาน
  • มีกลไกที่จะผลักดันกิจกรรมเข้าแผนพัฒนาของ อปท.
  1. สพจ.ประสานงานกับ อปท.ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อขอให้ อปท. นำแผนงานหรือกิจกรรมด้านพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาการบรรจุแผนงานพัฒนา อปท. ต่อไปในอนาคต
  2. สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานภายใต้งบอุดหนุน กับโครงการฯหรือกิจกรรมของ อปท.ที่เข้าร่วมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และผ่านการพิจารณาของ สพจ. แล้ว ในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นการนำร่องกิจกรรมจากแผนพลังงานชุมชน