เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2565 เวลา 09.30 - 12.00 น. กระทรวงพลังงานจัดการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาระบบไฟฟ้าสําหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 

ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 กระทรวงพลังงานและการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

โดยมี นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการ การประชุมในครั้งนี้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานด้านการส่งเสริมการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล สัมฤทธิ์ผล สอดคล้องตามเป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และมีการบูรณาการในการวางแผนและการดำเนินงานในภาพรวมระดับบโยบายต่อไป

ความเป็นมา : คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาระบบไฟฟ้าสําหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยั่งยืน ถูกแต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ที่ 2/2565 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯในครั้งนี้

อํานาจหน้าที่
(1) พัฒนาระบบฐานข้อมูลพื้นที่เป้าหมายที่จะดําเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้มีระบบไฟฟ้าสําหรับเกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยั่งยืน และจัดทําเกณฑ์คัดแยกประเภท และลําดับความสําคัญของพื้นที่เป้าหมาย
(2) กําหนดกลไก คู่มือ แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่จะดําเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้มีระบบไฟฟ้าสําหรับเกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยั่งยืน
(3) จัดทําแผนบูรณาการและดําเนินงานให้พื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้ในภาพรวม และกําหนดเป็นแผนงานหรือนโยบายระดับประเทศ (National Agenda) และแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ โดยกําหนดบทบาทหน้าที่แต่ละหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการทํางานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และลดความทับซ้อนเชิงภารกิจ และความซ้ำซ้อนด้านงบประมาณการลงทุน
(4) ให้คําแนะนําแนวทางพัฒนาให้พื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบต่าง ๆ และสามารถพัฒนารูปแบบใหม่ด้วยกลไกที่สร้างพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่าง ๆ (Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้มีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ หรือการพัฒนานวัตกรรมการดําเนินงานให้พื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืน ทั้งในรูปแบบที่ยังมีรัฐกํากับดูแล ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมาร่วมขับเคลื่อนให้พื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้
(5) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีระบบไฟฟ้าสําหรับเกาะและพื้นที่ห่างไกลที่ยั่งยืน
(6) เชิญหน่วยงานหรือองค์การเพื่อให้ข้อมูลและเอกสารเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีระบบไฟฟ้าสําหรับเกาะและพื้นที่ห้างไกลที่ยั่งยืน
(7) ดําเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย