กลุ่มพื้นที่ต่อยอดโดดเด่น งานประชาสัมพันธ์กลุ่มผู้ใช้งานระบบที่ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการอบรม อส.พน. ช่างพลังงานชุมชนด้านโซลาเซลล์

 

  1. พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

          คุณสุจารี ธนสิริธนากร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันบุญ “เริ่มต้นจากที่ต้องการหาทางออกเพื่อเป็นทางเลือกทางรอดให้ชาวบ้าน โดยลงมือค้นหาคำตอบผ่านการทำงานวิจัยไทบ้านร่วมกับคู่ชีวิตและชาวบ้านที่สนใจ คำตอบที่ได้ในวันนั้น คือ การกลับมาทำนาแบบโบราณ หรือ การทำเกษตรอินทรีย์ เลิกการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง โดยได้มีการแบ่งปันพื้นที่บางส่วนให้สมาชิกปลูกผักโดยไม่เสียค่าเช่า แถมมีรายได้จากการปลูกผักอินทรีย์ส่งขาย เมื่อผู้ปลูกเพิ่มขึ้น จากเดิมส่งให้โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ทุกสัปดาห์ กลุ่มจึงเดินหน้าหาลูกค้ารายใหม่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตบนห้างชั้นนำทั้งในจังหวัดตัวเองและใกล้เคียง สร้างหลักประกันและความภาคภูมิใจในอาชีพและรายได้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนปันบุญ ซึ่งวันนี้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรปันบุญ มีสมาชิกผู้ถือหุ้นกว่า 50 คนกระจายอยู่ในพื้นที่หลายหมู่บ้านของอำเภอฆ้องชัย”

          ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเดินหน้าพัฒนาจนถึงจุดนี้ คือการที่มีระบบการจัดการน้ำที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มได้ “การได้นำระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ทำให้กลุ่มลดค่าใช้จ่ายพลังงานลงไปได้อย่างมาก มีน้ำใช้ตลอดปี และอีกเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ IOT เมื่อก่อนปลูกผักต้องใช้สายยางรดน้ำ ใช้เวลารดครึ่งวันก็ไม่เสร็จ พอเปิดน้ำที่หนึ่งอีกที่หนึ่งก็ไม่ไหลเพราะน้ำไม่พุ่ง แต่ทุกวันนี้ใช้ระบบน้ำที่เปิดเป็นโซน รดทีเดียวได้ครั้งละ 5-6 แปลง ทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ชาวบ้านหลายคนกล้าที่จะซื้อสายน้ำพุ่งแล้วทำระบบน้ำ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องไปดูแล แม้แต่การมีเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มหรือระบบคอนโทรลต่าง ๆ เข้ามา เขาก็พร้อมจะเปลี่ยน”

 

  1. พื้นที่จังหวัดขอนแก่น

          วิสาหกิจชุมชนปลูกหน่อไม้ฝรั่งและผักสด ตำบลโนนฆ้อง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น นายบุญถิ่น กุระขันธ์ รองประธานกลุ่ม “จุดเริ่มต้นเป็นการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในวิถีเกษตรกรรรม กลุ่มได้รับการสนับสนุนระบบผ่านสำนักงานพลังงานจังหวัด โดยกลุ่มมีการจัดการและบริหารการใช้น้ำจากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มีการแบ่งแปลงย่อย ติดมิเตอร์ย่อยรายแปลงสมาชิก และบริหารการเพาะปลูก เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อสมาชิกและไม่ให้ผักที่กลุ่มผลิตขายล้นตลาด” การจัดการกลุ่มที่ดีเป็นผลให้เกิดการต่อยอดการใช้ระบบฯที่มีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้สมาชิกได้ทั้งปี

 

  1. พื้นที่จังหวัดมหาสารคาม

          ไร่แสนดี เกษตรทฤษฎีใหม่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวบ้านหนองยาง ได้รวมกลุ่มทำการเกษตรโดยยึดหลักแนวทางศาสตร์พระราชา ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิดทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ ประธานกลุ่มคุณบรรจง แสนยะมูล “น้ำ สำคัญเป็นอย่างมาก ในการทำการเกษตร กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลุ่มเกษตรกร ถือได้ว่าเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเกษตรต่อยอดสร้างรายได้ ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ทำข้าว ทำสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ ปลูกไผ่ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้กระทรวงพลังงานช่วยส่งเสริมให้กลุ่มอื่นๆต่อไป จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเดินต่อไปได้”

 

  1. พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

          กลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติบ้านหนองบัวลอง ปลูกข้าว ปลูกหอมแดง ปลูกผักเพื่อการส่งออก ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ตัวแทนกลุ่ม นางบุญพา บุษบงค์ “ต้องขอบคุณกระทรวงพลังงานที่มีโครงการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กลุ่มเกษตร ซึ่งการทำให้เกษตรกรมีน้ำในการทำเกษตร ทำให้กลุ่มสามารถต่อยอดในการสร้างรายได้ได้หลากหลายมากขึ้น”

          ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดโดดเด่น คือ ผ้ากลีบหอมหนองหงส์ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผ้าด้ายสีเขียวไพร ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากกลีบหอมแดงแห้งที่ลอกเปลือกออกจากหัวแล้ว ซึ่งเป็นหอมแดงพันธุ์พื้นเมืองของชาวอำเภอหนองหงส์ นำมาแช่ สกัด และจุนสีให้เปลี่ยนจากสีแดงขุ่น เป็นสีเขียวไพร สีติดทน ไม่ตกง่าย ทอด้วยความประณีต และมีคุณลักษณะที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากใช้สีธรรมชาติ และเป็นสีจากสมุนไพรหอมแดงที่มีสรรพคุณช่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ บำรุงร่างกาย และบำรุงหัวใจ

 

  1. พื้นที่จังหวัดสระแก้ว

          วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรทับทิมสยาม05 เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดคนพลังงาน ระดับภาค สาขาวิสาหกิจลดใช้พลังงานยอดเยี่ยม (ภาคกลาง) โดยเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีการนำเทคโนโลยีพลังงานเข้ามามีบทบาททั้งในส่วนของต้นทางและปลายทางของกระบวนการผลิตทำให้กลุ่มมีการจัดการพลังงานที่ดี

          ผู้ดูแลและลูกจ้างโครงการได้คิดกันว่า เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้กับสมาชิก และกระตุ้นการผลิตให้เพียงพอกับการส่งตลาดจึงตั้งกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและกลุ่มแปรรูปสมุนไพร และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจแปรรูปสมุนไพรทับทิมสยาม 05 เมื่อปี 2555 จากลูกจ้างจึงมาเป็นผู้ผลิตและแปรรูป โดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้มอบพื้นที่ที่จะปลูกสมุนไพรจำนวน 40 ไร่ แบ่งให้สมาชิกประมาณ 1 ไร่ต่อคน แต่ละคนปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยมีสมาชิกผู้ปลูกสมุนไพร 50 ครัวเรือน ใช้หลักการ รวมกลุ่ม แยกกันทำ รวมกันขายจึงทำให้มีวัตถุดิบที่เพียงพอในการนำมาผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อส่งขาย