เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
นายพีระพงษ์ บุญแสง (ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาพลังงานภูมิภาค) ผู้แทนปลัดกระทรวงพลังงานที่ได้รับมอบหมาย ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (พนส.) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ไฟเขียวปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการภายใต้ พนส. ให้การทำงานครอบคลุม มีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพ ติดตามขับเคลื่อนและการประเมินผลด้านกฎหมาย และหนึ่งในประเด็นสำคัญคือพิจารณาแนวทางการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMRs)
โดยนางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการฯ เปิดเผยว่า บอร์ด พนส. ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบในหลักการของร่างข้อตกลงการควบคุมดูแลการประกอบกิจการสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ระหว่างคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. …. ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นการอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และพิจารณาเห็นชอบรายงานสรุปผลการตรวจประเมินการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของประเทศไทยกรณีการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ จากประเทศญี่ปุ่น ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดย ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ ได้มีการตรวจสอบน้ำทะเลและอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ซึ่งผลการตรวจประเมินไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีแต่อย่างใด
ในการนี้ที่ประชุมยังพิจารณาให้ความเห็นชอบจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนที่นำทางและขับเคลื่อนการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตพลังงานแบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors: SMRs) ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัย วิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตของการผลิตพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมหากประเทศไทยมีการ SMRs มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามแผน PDP ของประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายหลักกระทรวง อว. ด้านพลังงานสะอาด ความยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
อ้างอิง : สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) https://www.oap.go.th/2024/10/31/nuclear-energy-peace-committee-meeting-oap1_2567/